เชื้อดื้อยาหลายขนาน (MDR organism)
  
คำแปล

คำนาม. เชื้อโรคที่สามารถยับยั้งการทำงานของยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านจุลชีพอื่นๆ ที่ใช้สำหรับการรักษาหลายขนาน ทำให้มียาที่ใช้ได้เพียงไม่กี่ขนาน ต้องใช้เวลารักษานานขึ้น เสียค่าใช้จ่ายแพงขึ้น มีผลข้างเคียงของโรคหรือจากการรักษามากขึ้น และมีโอกาสเสียชีวิตจากการติดเชื้อมากขึ้น (MDR organism=multi-drug resistant organism)

 

“เชื้อดื้อยาหลายขนานเป็นอันตรายและคุกคามสุขภาพของทุกคน เพราะเชื้อดื้อยาหลายขนานสามารถแพร่กระจาย จากคนสู่คน และทำให้ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาเหล่านั้น”

 

“สูตรยาในการรักษาโรควัณโรคที่ดื้อยาหลายขนาน จะต้องใช้เวลาในการรักษานานถึง 9 เดือน หรือมากกว่านั้น”

 

“เชื้อดื้อยาหลายขนานสามารถพัฒนาต่อไปกลายเป็นเชื้อที่ดื้อยาอย่างกว้างขวาง (XDR organism) และท้ายที่สุดเป็นเชื้อที่ดื้อยาทุกขนาน (PDR organism)”

 

คำใกล้เคียง

 

เชื้อดื้อยาอย่างกว้างขวาง (XDR organism)

คำนาม. เชื้อโรคที่สามารถยับยั้งการทำงานของยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านจุลชีพอื่นๆ ที่ใช้สำหรับการรักษาได้เกือบทุกขนาน ทำให้มียาที่ใช้ได้เหลือเพียงแค่หนึ่งหรือสองขนาน (XDR organism= Extensively drug-resistant organism)

 

เชื้อดื้อยาทุกขนาน (PDR organism)

คำนาม. เชื้อโรคที่สามารถยับยั้งการทำงานของยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านจุลชีพอื่นๆ ที่ใช้สำหรับการรักษาทุกขนาน (PDR organism=Pandrug-resistant organism)

คลังการเรียนรู้

การดื้อยาหลายขนานเป็นปัญหาที่มนุษย์สร้างขึ้น

 

ปัญหาของการดื้อยาหลายขนานเป็นปัญหาที่มนุษย์สร้างขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เชื้อวัณโรคที่ดื้อยาหลายขนานเกิดขึ้นมาจากการที่ใช้ยารักษาวัณโรคที่ไม่เพียงพอหรือไม่เหมาะสม[1] การใช้ยาที่ไม่เพียงพอ มักเกิดจากการที่ต้องรับประทานยาวัณโรคหลายขนานและยาวนาน ผลข้างเคียงของยาที่พบบ่อยและรุนแรง และการเดินทางของผู้ป่วยเพื่อเข้ามารับยา ทำให้เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการดีขึ้น พวกเขาก็มักจะหยุดยาเอง แต่เชื้อวัณโรคก็ยังคงไม่หมดไปจากร่างกาย เชื้อที่เหลืออยู่จะเริ่มมีความสามารถในการดื้อต่อยาหลายขนานที่ถูกใช้ในการรักษาขั้นต้น และแพร่กระจายในร่างกายของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการอีกครั้งหนึ่ง เชื้อวัณโรคก็จะไม่ตอบสนองต่อยาหลายขนานที่ถูกใช้เบื้องต้นไปแล้ว และจะเพิ่มความรุนแรงในการแพร่กระจายและเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

เชื้อแบคทีเรีย CRE (Carbapenem-resistant Enterobacteriaceae) เป็นแบคทีเรียก่อโรคที่ดื้อยาหลายขนาน รวมทั้งดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่มีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบันซึ่งก็คือยากลุ่มคาร์บาพีแนม (Carbapenem) ทำให้ CRE จัดเป็น “ซุปเปอร์บั๊ก” ตัวหนึ่ง ยาโคลิสติน (Colistin) เป็นยาตัวหนึ่งที่เก็บไว้ใช้ในการรักษาการติดเชื้อของ CRE แต่เป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูงมาก

 

การใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินไปทั้งในโรงพยาบาลและการซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเองในชุมชนสนับสนุนการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย CRE แบคทีเรีย CRE สามารถแพร่กระจายและก่อให้เกิดการติดเชื้อของผู้ป่วยจำนวนมาก คุณจะมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อจาก CRE ถ้าเมื่อไม่นานมานี้คุณเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยใน อยู่ในศูนย์พักฟื้นเป็นเวลายาวนาน หรือได้ใช้ยาปฏิชีวนะ การติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจาก CRE มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่สูง

เชื้อแบคทีเรีย อะซินิโตแบคเตอร์ (Acinetobacter) เป็นแบคทีเรียก่อโรคที่ดื้อยาหลายขนานอีกหนึ่งตัวที่สำคัญ สำหรับประเทศไทยและทั่วโลก เชื้อ Acinetobacter ที่ดื้อยาหลายขนานมักดื้อต่อยากลุ่มคาร์บาพีแนม ยาโคลิสติน (Colistin) เป็นยาตัวหนึ่งที่เก็บไว้ใช้ในการรักษาการติดเชื้อของ Acinetobacter ที่ดื้อยาหลายขนานเช่นกัน

 

เพื่อที่จะแก้ปัญหาการดื้อยาหลายชนิดของเชื้อโรค โรงพยาบาลจำเป็นที่จะต้องมีระบบสุขอนามัยที่ดี เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนจะล้างมือก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยและสิ่งรอบข้างผู้ป่วย และมีการควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม (Antimicrobial stewardship) นอกจากนี้ประชาชนทั่วไปก็ควรที่จะต้องล้างมือและรักษาสุขอนามัยอย่างเหมาะสม รวมทั้งหยุดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้องด้วยเช่นกัน

 

สามารถดูวีดีโอเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “เชื้อดื้อยาหลายขนาน” ได้ที่

วัณโรคดื้อยาหลายขนาน (ผลิตโดย ทุนวิจัย วัณโรคดื้อยา วันที่ 01/03/2556)

แนวทางปฏิบัติและแนวทางป้องกันการแพร่เชื้อ MDR (ผลิตโดย jiratikan sumpuntasitวันที่ 12/27/2560)

 

เอกสารอ้างอิง

1 Huber, C. (2017, March 20). The Causes of Multi-Drug Resistant Tuberculosis. The Borgen Project. Retrieved from https://borgenproject.org/causes-multi-drug-resistant-tuberculosis/

คำที่เกี่ยวข้อง
ดาวน์โหลด

ดาวน์โหลดพจนานุกรมฉบับภาษาไทยได้ที่นี่